วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2551
ค่าว : วรรณกรรมของภาคเหนือ
“ค่าว” เป็นชื่อของลักษณะการเรียบเรียงถ้อยคำที่ให้เป็นระเบียบเหมือนห่วงโซ่ คือ มีสัมผัสคล้องจองกันไป ทางภาคเหนือเรียกเชือกเส้นโต ๆ ว่าค่าว หรือเชือกค่าว เพราะลักษณะเป็นค่าวเป็นเครือต่อเนื่องกันลักษณะคล้ายกลอนแปดของภาคกลาง ทั้งในด้านสัมผัสและลีลากลอน (มณี พยอมยงค์, 2525)
ค่าวหรือค่าวซอเป็นวรรณกรรมที่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2300-2470 เพราะเป็นช่วงที่บ้านเมืองพ้นจากอำนาจการปกครองของพม่า วัฒนธรรมหลายอย่างรวมทั้งวรรณกรรมค่าวจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น ค่าวหรือค่าวซอเป็นวรรณกรรมที่สืบเนื่องมาจากธรรมค่าว โดยธรรมค่าวนั้นแต่งขึ้นเพื่อใช้เทศน์ให้ชาวบ้านฟังที่วัด ผู้ที่ฟังธรรมค่าวก็ได้ข้อคิด ปรัชญาหรือหลักธรรม สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรมค่าวก็ได้อาศัยฟังค่าวซอแทนเพราะค่าวซอมีเนื้อเรื่องทำนองเดียวกับธรรมค่าว จะต่างกันในรูปแบบของการประพันธ์ เท่านั้น ค่าวซอแสดงถึงวัฒนธรรมของชาวภาคเหนือโดยเฉพาะล้านนาในด้านต่าง ๆ เช่น ประเพณี การละเล่น สุภาษิต การแต่งกาย ตลอดจนสภาพความเป็นอยู่ของชาวภาคเหนือ นอกจากนี้ค่าวซอยังแต่งขึ้นด้วยคำประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่มีส่วนคล้ายกลอนแปดอยู่บ้างตรงที่มีสัมผัสรับกันไปโดยตลอด (เสน่หา บุณยรักษ์, 2519)
ค่าวจึงเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางด้านภาษาของล้านนา มีความสุนทรียะ บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ แสดงออกถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมชนบทในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณี แฝงด้วยคติธรรมและสุภาษิตสอนใจ นอกจากนี้ ค่าวยังแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น แต่ปัจจุบันการประพันธ์และการเล่าค่าวถูกละทิ้ง ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร และหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ค่าวก็อาจจะเลือนหายไป
ค่าวชนิดต่าง ๆ ค่าวแบ่งตามลักษณะการประพันธ์ได้ดังนี้
1. ค่าวก้อม เป็นโวหารที่กินใจ หรือสุภาษิตสั้น ๆ มักใช้ประกอบการสนทนา
2. คำค่าวคำเครือ เป็นสำนวนแบบฉบับที่หนุ่มสาวใช้เจรจาตอบโต้กัน
3. ค่าวใช้ เป็นจดหมายรักที่มีไปมาระหว่างหนุ่มสาวเทียบได้กับเพลงยาวของภาคกลาง
4. ค่าวร่ำ หรือค่าวฮ่ำ ใช้พรรณนาเหตุการณ์ต่าง ๆ คล้ายกับจดหมายเหตุ เช่น ค่าวร่ำน้ำนอง ค่าวร่ำครัวทานสลากย้อม ค่าวร่ำครูบาศรีวิชัย เป็นต้น
5. ค่าวธรรม ใช้ในการแต่งเรื่องแบบจักร ๆ วงศ์ ๆ เพื่อการอ่านสู่กันฟัง เช่น ค่าวหงส์หิน ค่าวเจ้าสุวัตร์นางบัวคำ ค่าวก่ำกาดำ เป็นต้น
การอ่านค่าว การอ่านค่าวมีลีลาการอ่าน โดยแยกไปตามระดับของเหตุการณ์และทำนองร้อง มี 3 ทำนองดังนี้
1. อ่านทำนองโก่งเฮียวบง (โก่งเรียวไผ่) หมายถึง การอ่านแบบลีลาช้า มีเอื้อน และใช้เสียงสั้นยาวไปตามจังหวะดนตรี
2. อ่านทำนองม้าย่ำไฟ ได้แก่ การอ่านแบบจังหวัดเร็วเร่งร้อนเหมือนม้าเหยียบไฟ ผู้อ่านเริ่มอ่านเร็วแล้วไปทอดยาวตอนปลาย การอ่านแบบนี้จุเนื้อความได้มาก ไม่เสียเวลา
3. อ่านทำนองวิงวอน เป็นการอ่านแบบต้องการให้ผู้ฟังเกิดความเมตตา สงสารเพราะลีลาเสียงเป็นไปในทำนองสลดสังเวช นิยมอ่านตอนบทเศร้าที่ต้องการให้สะเทือนอารมณ์ผู้ฟัง
ประโยชน์ของค่าว
1. ใช้ในการแต่งเรื่องต่าง ๆ ซึ่งผู้แต่งต้องการนำเอาเรื่องเกี่ยวกับจักร ๆ วงศ์ ๆ มาแสดงให้ชาวบ้านได้รู้เรื่องราว เพราะในคัมภีร์เทศน์อ่านเข้าใจยาก เนื่องจากมีคำบาลีและคำเก่า ๆ มาก จึงมีการแต่งขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงคำพูดให้เข้าใจง่าย
2. ใช้ในการแต่งเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้นในท้องถิ่น มีประโยชน์ในด้านบันทึกความทรงจำให้คนรุ่นหลังได้รู้เรื่องราวในอดีต
3. เป็นสื่อแห่งความรัก จดหมาย หรือเพลงยาวที่หนุ่มสาวใช้เป็นเครื่องบอกความในใจแก่กัน
4. แฝงไว้ด้วยสุภาษิตสอนใจ
ประเพณีการเล่าค่าว การเล่าค่าวมีได้หลายลักษณะ จำแนกตามโอกาสดังนี้
1. การเล่าค่าวภายในครอบครัว ส่วนใหญ่จะเล่าหลังอาหารเย็น เพื่อคลายบรรยากาศที่เงียบเหงาในตอน กลางคืน เพราะในสมัยก่อนยังไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ และสิ่งบันเทิง เหมือนในสมัยนี้
2. การเล่าค่าวในงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานปอยบวชลูกแก้ว (งานบวชเณร) งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานปอยเข้าสังข์ (งานทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปหาคนตาย สมัยก่อนต้องใช้เวลาเตรียมงานหลายวัน)
3. การเล่าค่าวในงานศพ เพื่อให้ผู้ที่มาอยู่เป็นเพื่อนเจ้าของบ้านได้ฟังในขณะที่ศพยังไม่ได้เผาเพื่อไม่ให้บรรยากาศเศร้าหมองเกินไป
ฉันทลักษณ์ของค่าว มีดังนี้
1) ค่าว 1 บท มี 3 บาท (3 บรรทัด) บาทละ 4 วรรค
2) สามวรรคแรกมี 4 คำ ส่วนวรรคที่สี่ มี 2-4 คำ
3) บังคับเสียงวรรณยุกต์สามัญ, โท, ตรี และจัตวา
4) การส่งสัมผัสประกอบด้วย สัมผัสระหว่างวรรค และสัมผัสระหว่างบาท สัมผัสระหว่างวรรคส่งจากวรรคท้ายวรรคที่สองไปยังคำท้ายวรรคที่สามของทุกบาท
5) บังคับเสียงวรรณยุกต์สามัญ, โท, ตรี และจัตวา ตามตำแหน่งที่กำหนด
สำนวนค่าว มี 3 ส่วน คือ บทขึ้นต้น, บทดำเนินเรื่อง และบทสุดท้าย
ตัวอย่างสำนวนค่าว
ค่าวสรียินดี
สรียินดี ตึงพี่ตึงน้อง ที่มาอ่านถ้อง ค่าวซอเป๋นสาย
หลายเมืองแท้นั้น เมืองน่านมาก๋าย เชียงใหม่เชียงราย มาร่วมสืบสร้าง
ตึงแม่ฮ่อนสอน มาช่วยก่อตั้ง เชิญชวนหมู่เฮา พร้อมพรัก
ลำพูนลำปาง เมืองแพร่แท้ทัก พะเยาร่วมเข้า มาไจ
มาแต่งค่าวจ๊อย ม่วนงันหัวใจ๋ เชิญมาทางใน หมั่นแวะหมั่นเข้า
ค่าวซอของเฮา ตึงดีแท้เจ้า มาเต๊อะเชิญมา ช่วยค้ำ
แต่งหื้อม่วนงัน บ่มีชอกช้ำ มาแต่งค่าวสร้อย เนอนาย
ก็ขอลาไป สุดปล๋ายเท่าอี้ เท่านี้สู่กั๋นฟัง ก่อนแลนายเหย.
แนวทางอนุรักษ์และสืบทอดวรรณกรรมค่าว
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าค่าวเป็นวรรณกรรมล้านนาที่มีคุณค่าทางด้านภาษา แสดงออก ถึงภูมิปัญญา สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และคติธรรมด้านต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันค่าวไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร ดังนี้ จึงต้องหาแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดให้ดำรงคงอยู่ต่อไป ดังนี้
1. กระตุ้นให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ และผู้สนใจทั่วไปตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญของค่าว
2. สนับสนุนให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียน เช่น จัดให้เป็นหลักสูตรสอนเสริมสำหรับโรงเรียนในท้องถิ่นภาคเหนือ
3. ส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาจากค่าว เช่น จัดให้มีมุมสืบค้นในห้องสมุด
4. เปิดให้มีเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น จัดให้มีการประกวดการแต่งค่าว หรือประกวดเล่าค่าวระหว่างกลุ่ม/ชมรม/โรงเรียน เป็นต้น
5. สร้างและขยายเครือข่ายให้มีมากขึ้น เช่น จัดตั้งชมรมคนรักค่าวประจำหมู่บ้าน/ชุมชน/โรงเรียน แล้วขยายออกไปเรื่อย ๆ
6. สร้างองค์ความรู้ใหม่โดยคนที่มีความรู้อยู่แล้วและนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบัน เช่น นำเนื้อหาวิชาในหลักสูตรมาแต่งเป็นค่าวเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งนอกจากเด็กก็จะได้รับเนื้อหาทางวิชาการแล้ว ยังเป็นการฝึกอ่านฝึกแต่งค่าวทางอ้อมอีกด้วย
7. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ทางสื่อที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เช่น วิทยุชุมชน อินเทอร์เน็ต
สรุป
ค่าวเป็นวรรณกรรมล้านนาที่มีคุณค่าทางด้านภาษาถิ่น แสดงออกถึงภูมิปัญญา สะท้อนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และคติธรรมด้านต่าง ๆ รวมทั้งยังแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบทอดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
---------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
วรรณกรรมค่าวของภาคเหนือ โดย เสน่หา บุณยรักษ์
ประวัติและวรรณคดีลานนาไทย โดย มณี พยอมยงค์
วรรณกรรมลายลักษณ์ล้านนา โดย ดร.อุดม เรืองศรี
http://poonudom.khonmuang.com
วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2551
ค่าวจ๊อยเรื่อง "สิทธิมนุษยชน"
ค่าวจ๊อยสิทธิมนุษยชน - แม่บัวซอนเมืองพร้าว
ค่าวจ๊อยเรื่อง “สิทธิมนุษยชน”
โลกเฮานี้น๋อ ผ่อดูยอกย้อน ความหนักหน่องข้อน บ่เสมอกั๋น
พ่องรวยล้นฟ้า เก่งกล้าสุขสันต์ เหมือนอยู่วิมาน สวรรค์จั้นเก้า
พ่องก็เกิดมา ตุ๊กข์ขาเต๊าเถ้า ก๋รรมใผ๋บุญมัน นั้นเล้า
ตี่เปิ่นมีบุญ มั่งมูลตุ่นเต๊า เกิดมาเป๋นเจ้า เป๋นนาย
พ่องเกิดมาตุ๊กข์ หล่อล้มหล่อต๋าย ก้นไปหัวไป กุ้มกิ๋นเต้าอั้น
พ่องมีเงินเดือน เลื่อนยศเลื่อนขั้น แสนสุขสำราญ ฟุ้งเฟ้อ
ตี่เปิ่นคนจ๋น ก็จ๋นแต๊เน้อ บ่มีสิ่งอั้น ใดเลย
ต่อสู้ความตุ๊กข์ ฝุ่นมุกแดดเหมย ถูกเขาละเลย เป๋นคนต่ำต้อย
ขาดการศึกษา วาสนาหน้อย จาวเขาจาวดอย ม่อนจิ้ง
สังคมบ่หัน ปากั๋นทอดทอดทิ้ง ปล่อยเขาเกลือกกลิ้ง ดินทราย
สุนัขจิ้งจอก หลอกเอาไปขาย ถูกเขาทำลาย ยับเยินป่นปี้
หลงอำนาจเงิน ล้ำเกินดั่งอี้ พรหมจารี ย่อยยับ
ขอวอนคนดี ตี่มีสินทรัพย์ ปอโผดผายหื้อ เป็นตาน
พวกเขาอาภัพ โปรดฮับสงสาร จ่วยเหลือเผื่อตาน ผู้โอกาสด้อย
แบ่งปั๋นน้ำใจ๋ คนเล็กคนหน้อย ผีซ้ำด้ามพลอย เขานัก
บางพ่องก็โดน สังคนหมู่ยักษ์ หลอกกิ๋นก่าจ้าง แรงงาน
สิทธิมนุษย์ ย่อมมีเหมือนกั๋น ขอรัฐบาล จ่วยกั๋นปกป้อง
รัฐธรรมนูญ เป็นมูลเกี่ยวข้อง สิทธิของคน มนุษย์
ปี้น้องไทยเฮา ก็เป็นจาวปุ๊ด มีกฎหมายข้อ วินัย
โอบอุ้มโน้มนาว หื้อเขารอดต๋าย เขาก็คนไทย ใช่คนต่างด้าว
ฮ้ายดีมีจ๋น ทุกคนหนุ่มเฒ่า มีสิทธิเท่าเทียม กั๋นหมด
ประเทศไทย มีหมายมีกฎ ไว้เปื่อต่อสู้ ดูแล
ต๋ามอาญาสิทธิ์ อย่าผิดผวนแผ ข่มเหงรังแก กฎหมายเปิ้นห้าม
ต๋ามอาญาสิทธิ์ อย่าผิดผวนแผ ข่มเหงรังแก โดนยับเน้อเจ้า ก่อนแลนายเหย.
บทประพันธ์ของ แม่ครูบัวซอน เมืองพร้าว
วันที่ 1 กรกฎาคม 2550
http://www.buasorn.com