ความเป็นมา
ผ้าเป็นปัจจัยสำคัญขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ ในสังคมเกษตรกรรมแต่บรรพกาล สืบมาทุกครัวเรือนจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยกันภายในครอบครัว มีการถ่ายทอด และสั่งสมกรรมวิธีการทอผ้าให้แก่สมาชิกโดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นเพศหญิง แม่หรือยายจะเป็นผู้รับหน้าที่อบรมและถ่ายทอดวิธีการ กรรมวิธี และประสบการณ์ในการทอผ้าให้แก่บุตรสาวหรือหลานสาว จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง
ชาวไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในยามว่างจากงานในไร่นา ผู้หญิงจะทอผ้า ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” ซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงอุปนิสัยของผู้หญิงเพราะการทอผ้าเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความขยัน ความอดทน ความพยายาม และความละเอียดอ่อนประณีต ผ้าทอที่ได้จะนำมาใช้ในครอบครัวตามโอกาสต่าง ๆ หรือใช้ในการแลกเปลี่ยนกับผลผลิตอื่น ๆ เพราะการทอผ้าในสมัยก่อนเป็นการผลิตเพื่อใช้เอง มิใช่เพื่อการค้า
การย้อมผ้าด้วยสีครามแพร่หลายในทุกภูมิภาคของโลกนับพันปีมาแล้ว และกรรมวิธีในการย้อมก็คล้ายคลึงกัน แต่ที่เมืองแพร่นั้นมีการสันนิษฐานกันว่าการทำผ้าม่อฮ่อมได้ติดตัวมากับผู้คนที่เข้ามาเมืองแพร่ ด้วยเหตุของสงครามที่มีการอพยพกวาดต้อนผู้คนมาเพื่อเป็นแรงงาน หรือที่เรียกกันว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" รวมถึงการอพยพเข้ามาด้วยความสมัครใจ
การอพยพกวาดต้อนผู้คนนั้นน่าจะมีอยู่ 2-3 ช่วง กล่าวคือ ในราวสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยเจ้าเมืองใจ๋เจ้าผู้ครองนครแพร่ก็ได้ผู้คนเชื้อสายไทลื้อมาจากเชียงแสนพามาสร้างถิ่นฐานไว้ที่แถบบ้านพระหลวง และช่วงสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สยามส่งกองทัพไปถึงสิบสองปันนาก็ได้ไทลื้อมาไว้ที่บ้านถิ่น ต่อมากองทัพสยามไปลาวได้คนเชื้อสายลาวพวนมาไว้ที่ทางทิศเหนือของเมืองแพร่ คือ บริเวณวัดสวรรค์นิเวศน์ ซึ่งภายหลังได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านทุ่งโห้งและเพี้ยนมาเป็นทุ่งโฮ้งในปัจจุบัน (ชื่อเดิมของบ้านทุ่งโห้ง คือ "บ้านทั่งโห้ง" คำว่า "ทั่ง" หมายถึงทั่งที่รองรับการตีเหล็ก ส่วนคำว่า "โห้ง" เป็นภาษาไทพวน หมายถึง สถานที่เป็นแอ่งลึกลงไปเหมือนรูปก้นกระทะ เมื่อตีเหล็กบนทั่งเป็นประจำทุกวัน ทั่งมันก็เป็นแอ่งลึกลงไป ซึ่งคนพวนเรียกว่า มันโห้งลงไป ทั้งนี้ ก็เนื่องจากชาวไทพวนสมัยก่อนนั้นยึดอาชีพตีเหล็กกันทุกหลังคาเรือน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า บ้านทั่งโห้ง แล้วเพี้ยนมาเป็นบ้านทุ่งโฮ้งจนถึงทุกวันนี้)
คนไททั้งสองเชื้อสายคือ ไทลื้อและไทพวนนั้นมีความชำนาญในการย้อมสีครามจากพืชพรรณธรรมชาติ 3 ชนิด คือ คราม ฮ่อม และฮ่อมเครือ แล้วจึงนำมาทอและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับใช้สวมใส่
ม่อฮ่อม เป็นผ้าพื้นเมืองที่สำคัญของจังหวัดแพร่ คำว่าม่อฮ่อม เขียนได้หลายแบบ เช่น ม่อห้อม, หม้อฮ่อม หรือม่อฮ่อม ซึ่งแล้วแต่ใครจะนำมาใช้ แต่ความหมายที่แท้จริงนั้นเหมือนกันทุกคำ คือ เสื้อผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวไทยโดยการใช้ผ้าฝ้ายที่ได้จากการทอแล้วนำมา ย้อมด้วยสีครามที่ได้จากต้นฮ่อมหรือต้นครามจนได้ผ้ามีสีเดียวกันตลอดทั้งผืน
ต้นฮ่อม เป็นไม้ล้มลุกชนิด Baphicacanthus cusia Brem. ในวงศ์ Acanthaceae พืชร่วมตระกูล ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร คราม พญายอ ทองพันชั่ง ฯลฯ ลักษณะลำต้นตั้งตรง มีกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้ามรูปวงรี ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยละเอียด ใบเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเท่ากับฝ่ามือของผู้ใหญ่ ดอกออกเป็นช่อ ที่ซอกใบมีดอกย้อยหลายดอก กลีบดอกสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งงอเล็กน้อย ลำต้นสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยลำต้นนำมาปักชำไว้รากจะงอกบริเวณข้อ ต้นฮ่อมจะเติบโตได้ดีในที่ที่มีแดดรำไร มีความชุ่มชื้นสูง และน้ำซึมตลอดเวลา ใบฮ่อมสามารถเก็บมาหมักใช้ทำสีครามได้เมื่อย่างเข้าปีที่ 2 ระยะของการเก็บไม่จำกัดขึ้นอยู่กับว่าจะออกแขนงช้าหรือเร็ว ถ้าฮ่อมต้นใหญ่จะตัดทั้งกิ่งและใบมาใช้ แต่ถ้ายังเป็นต้นเล็กก็จะใช้ใบเป็นหลัก โดยนำเอาต้นและใบฮ่อมมาหมักในหม้อที่บรรจุน้ำตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ทำให้ได้น้ำสีครามที่จะนำมาย้อมผ้าขาวให้เป็นผ้าคราม ที่เรียกกันว่า ผ้าม่อฮ่อม หรือ ผ้าหม้อฮ่อม ซึ่งเป็นผ้าที่ชาวแพร่และคนไทยทั่วประเทศนิยมใช้กันทุกเพศทุกวัย รวมถึงชาวต่างชาติ ก็นิยมใช้ผ้าม่อฮ่อมกันมาก เพราะผ้าม่อฮ่อมเป็นผ้าย้อมที่สวมใส่สบายเหมาะกับอากาศร้อนอย่างเมืองไทย เนื้อผ้าดี สีสันสวยงาม ดูแลรักษาง่าย และราคาถูก
วิวัฒนาการของม่อฮ่อม
ด้วยคุณสมบัติของผ้าม่อฮ่อมด้านความทนทาน ราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย รวมถึงความเชื่อที่ว่าผ้าย้อมครามไม่มีกลิ่นเหม็นอับ คนทั่วไปจึงรู้จักผ้าม่อฮ่อมเมืองแพร่กันเป็นอย่างดีและนิยมใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นผ้าที่เนื้อผ้ามีน้ำหนักเบา สวมใส่สบาย ไม่ร้อนเกินไป และสีที่ย้อมก็เป็นสีเข้มทำให้ไม่เปื้อนง่าย รูปแบบของการตัดเย็บเป็นแบบเรียบง่าย สามารถใส่ได้ทุกเพศทุกวัยและใส่ได้หลายโอกาส เช่น สวมใส่ในงานวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ งานลอยกระทง งานไหว้พระธาตุ งานบุญประจำปี เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าม่อฮ่อมเป็นผ้าไทยที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นและเหมาะกับทุกฤดูกาล ด้วยกระแสนิยมความเป็นไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรณรงค์ฟื้นฟูให้แต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองและส่งเสริมการใช้สินค้าไทยซึ่งเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ก็ยิ่งทำให้เกิดความนิยมในการใช้เสื้อผ้าม่อฮ่อมมากขึ้น ม่อฮ่อมเมืองแพร่จึงโด่งดังไปทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวว่า “ใครมาเมืองแพร่แล้วต้องซื้อผ้าม่อฮ่อม ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึง” ม่อฮ่อมจึงกลายเป็นสัญลักษณ์และสินค้า ประจำจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสดีแก่ผู้ประกอบอาชีพในการทำผ้าม่อฮ่อมที่สามารถผลิตออกมาแล้วขายได้มากขึ้น
เมื่อความต้องการผ้าม่อฮ่อมมีมากขึ้น ตลาดจึงกว้างขึ้น การแข่งขันทางด้านราคาก็สูงตามขึ้นไปด้วย ส่งผลถึงการผลิตม่อฮ่อมที่ต้องหันไปใช้ผ้าจากโรงงานซึ่งมีความสะดวกสบายและเพิ่มปริมาณการผลิตได้มากขึ้น กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมนั้นก็เริ่มหายไป แต่เดิมนั้นจะใช้ครามเปียกที่ได้จากต้นฮ่อมหรือต้นครามที่ปลูกขึ้นกันเองแล้วนำ มาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าก็กลายเป็นครามที่พ่อค้าใส่กระป๋องแล้วนำมาขาย ถึงช่วงหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นครามเกล็ดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นถังใหญ่ แบ่งขายเป็นกิโลกรัม ส่วนพัฒนาการด้านน้ำด่างนั้นที่เคยได้จาก ขี้เถ้าในครัว ก็กลายเป็นขุดหัวกล้วยหรือต้นผักโขมหนามนำมาตากแห้งแล้วเผาเอาขี้เถ้า จนมาช่วงหลังก็เป็นด่างที่เป็นผงขาว ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ต่อมาผ้าม่อฮ่อมก็ถูกแยกออกเป็น 2 อย่าง อย่างแรกถ้าพูดถึง คำว่า ม่อฮ่อมแท้ก็จะหมายถึง ม่อฮ่อมที่ย้อมเสื้อผ้าดิบในหมู่บ้านหรือในชุมชนเอง ส่วนอย่างที่ 2 นั้นจะหมายถึง ม่อฮ่อม ที่ย้อมด้วยสีเคมีจากโรงงานเสร็จแล้วนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า
ในช่วงปี 2545 กระแสความต้องการผ้าย้อมสีธรรมชาติมีมากขึ้น ความสนใจในเรื่องการผลิตผ้าม่อฮ่อมของผู้ประกอบการก็มีมากขึ้นตามไปด้วย จึงมีการสั่งซื้อครามเปียกมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนหาซื้อต้นฮ่อมจากหมู่บ้านในพื้นที่ป่าซีกตะวันออกของเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนบางรายที่พยายามส่งเสริมให้มีการปลูกต้นฮ่อมอีกด้วย
ปี 2547 หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมหลาย ๆ ด้านเพื่อพัฒนาคุณภาพ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องม่อฮ่อม พัฒนาระบบการจัดการ ส่งเสริม การรวมกลุ่มเพื่อการผลิตที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีการส่งเสริมการปลูกม่อฮ่อมให้มากขึ้น การส่งเสริมสารพัดด้านเหล่านี้ทำให้ผลิตภัณฑ์ม่อฮ่อมมีความหลากหลายมากขึ้น มีสีสันหลากหลายเข้ามาแต่งแต้มกับสีโทนคราม น้ำเงิน ส่วนรูปแบบผลิตภัณฑ์ก็ประยุกต์เป็นของใช้อื่น ๆ เช่น ปลอกหมอน ผ้าปูโต๊ะ เบาะรองนั่งม่าน และอีกมากมายหลายชนิด
ม่อฮ่อมแท้แบบดั้งเดิมจะมีเพียง 2 แบบ คือ เสื้อกุยเฮงคอกลมกระดุมขาว และกางเกงขาก๊วย ภาษาเหนือเรียก "เตี่ยวกี") ม่อฮ่อมแท้เมื่อนำไปซักในครั้งแรกจะตกสี โดยธรรมชาติแล้วคุณสมบัติของสีครามที่ใช้ย้อมผ้าม่อฮ่อมนั้นสีจะตก จึงมีคำพูดที่ว่า “ม่อฮ่อมแท้สีจะต้องตก” แต่กรรมวิธีที่ช่วยให้สีครามตกน้อยลง โดยการแช่ผ้าในน้ำเกลือหรือหัวน้ำส้มไว้ 1 คืนก่อนการซักครั้งแรก หลังจากนั้นก็ซักตามปกติโดยแยกซักออกจากผ้าที่มีสีอ่อน ผ้าม่อฮ่อมนั้น ยิ่งซักก็จะยิ่งสวย ซึ่งสีครามนี้จะตกอยู่ประมาณ 4-5 ครั้ง จากนั้นสีก็จะอยู่ตัว ไม่ตก ผ้าม่อฮ่อมที่ผ่านกรรมวิธีการย้อมโดยใช้สีจากต้นฮ่อมหรือต้นครามซึ่งเป็นสีธรรมชาตินี้ ถือเป็นม่อฮ่อมแท้ของเมืองแพร่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สวมใส่สบายและเมื่อสวมใส่ไปนาน ๆ สีของเสื้อผ้าจะดูสวยงามขึ้น
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าการทำผ้าม่อฮ่อมเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมและสืบทอด จากบรรพบุรุษมานานกว่า 100 ปี โดยเฉพาะผ้าม่อฮ่อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าม่อฮ่อมที่มีชื่อเสียงที่สุดที่สืบทอดกระบวนการผลิตได้ครบวงจร ตั้งแต่การเก็บวัตถุดิบ ขั้นตอนกระบวนการผลิต การทำเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตลอดจนการจำหน่ายในท้องถิ่น แต่ละบ้านต่างมีวิธีการและเทคนิคการย้อมที่แตกต่างกัน จนถือเป็นมารยาทที่คนในอาชีพเดียวกันจะไม่ถามไถ่ถึงสูตรการย้อม แต่ปัจจุบันการอนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานภูมิปัญญาการทำผ้าม่อฮ่อมแบบดั้งเดิมของคนในชุมชนเริ่มสูญหาย เพราะคนรุ่นหลังไม่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน อีกทั้งระยะหลังเมื่อครามที่จะนำมาใช้เป็นสีย้อมผ้านั้นมีราคาสูงขึ้น ทำให้ได้รับผลตอบแทนน้อยและไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงนี้ได้ ประกอบกับต้องเจอกับกลิ่นครามที่มีกลิ่นเหม็นและสีครามติดมือเวลาย้อมผ้า จึงเปลี่ยนไปทำงานที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าและทันสมัยขึ้น รสนิยมการแต่งกายเปลี่ยนไปแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่เป็นแฟชั่น ตลอดจนความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้คนรุ่นหลังหันไปประกอบอาชีพอื่นมากขึ้น โดยไม่ให้ความสนใจต่อการทำผ้าม่อฮ่อมอันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชนตนเอง ทำให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้ถูกละเลยและกำลังจะเสื่อมหายไป
คุณค่าทางภูมิปัญญาของผ้าม่อฮ่อม
จากการศึกษาจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการย้อมผ้า จะพบว่าบรรพบุรุษของเราในอดีตมีภูมิความรู้ที่ลึกซึ้ง จนสั่งสมและสืบทอดมาเป็นภูมิปัญญาที่น่าสนใจ นั่นคือ การเลือกสรรสีย้อม และเนื้อผ้า โดยการเลือกใช้ต้นฮ่อม หรือต้นครามมาย้อมสี และเป็นสีย้อมที่ใช้กันแพร่หลายในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นผ้าที่มีการผลิตและใช้สอยมากกว่าผ้าชนิดอื่นเพราะใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน
ผ้าม่อฮ่อมหรือผ้าย้อมครามนั้นจะมีกลิ่นครามติดอยู่ ผ้าเหล่านี้ไม่ค่อยมีแมลงมากัดกินเนื้อผ้าให้เสียหาย เพราะแมลงไม่ชอบกลิ่นของครามนั่นเอง เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าบรรพชนของเราได้คิดเลือกสรรวัสดุในการย้อมสีจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการป้องกันแมลง กลิ่นของฮ่อมหรือครามนั้นหอมลึกลับและปลอดพิษสำหรับคน แต่แมลงจะไม่ชอบกลิ่นนี้จึงไม่มาเข้าใกล้หรือกัดกินผ้าที่ย้อมด้วยฮ่อมหรือคราม อีกประการหนึ่งคือ สีครามเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาออกซิไดซ์ของเนื้อสีของน้ำครามกับออกซิเจนในอากาศ ผู้ทำหรือผู้ย้อมผ้าจึงเลือกที่จะย้อมสีผ้าในเวลากลางวันเพราะพืชรอบตัวเราคายออกซิเจนออกมาในเวลานี้ บ่อหมักฮ่อมหรือครามจึงมักจะอยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก มีต้นไม้พุ่มที่มีใบเขียวปลูกอยู่รอบ ๆ
คุณค่าความสำคัญของม่อฮ่อม
1. ผ้าม่อฮ่อมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดแพร่ที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน ซึ่งแต่เดิมจะผลิตเพื่อใช้ในครอบครัวมาจนถึงปัจจุบันที่ผลิตมากขึ้นจนสามารถผลิตออกจำหน่ายเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน ตลอดจนสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น
2. สร้างความภาคภูมิใจแก่คนในชุมชน ปัจจุบันผ้าม่อฮ่อมกลายเป็นสัญลักษณ์และสินค้าประจำจังหวัดแพร่ที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี อันนำมาซึ่งชื่อเสียงและความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ ของคนในชุมชน
3. สร้างความสมดุลระหว่างคนกับสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติ ด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติจึงไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างคนกับสังคมและธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
4. ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มสมาชิกก่อตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ และสมาชิกในกลุ่มหรือในชุมชนได้ร่วมคิดร่วมทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชนตนเอง ร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพจนเป็นกลไกหลักในการทำงานกับชุมชน
ทิศทางผ้าม่อฮ่อมในอนาคต
การผลิตผ้าม่อฮ่อมของจังหวัดแพร่ นอกจากจะเป็นการทำให้มีเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน การที่ชุมชนเห็นคุณค่าของธรรมชาติและรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการคงไว้ซึ่งภูมิปัญญา และการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในชุมชน ตลอดจนการที่ชุมชนเกิดการจัดการโดยชุมชนเอง เช่น การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เป็นต้น ดังนั้น ผ้าม่อฮ่อมหรือผ้าย้อมคราม จึงมิใช่เป็นเพียงผ้าสีน้ำเงินเข้มธรรมดา ๆ ผืนหนึ่งเท่านั้น แต่ม่อฮ่อมยังเป็นผ้าที่นอกจากจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในเรื่องกลิ่นและสีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะผืนซึ่งต่างกับผ้าที่ผลิตจากโรงงานแล้ว ยังแฝงด้วยความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของผู้ทอและผู้ย้อม จึงทำให้เสื้อผ้าม่อฮ่อมรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายชนิดจากผ้าม่อฮ่อมของจังหวัดแพร่ ซึ่งย้อมด้วยสีครามจากธรรมชาติกลายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ได้รับความนิยม ทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปและประเทศญี่ปุ่นจนผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ เพราะผ้าม่อฮ่อมหรือผ้าย้อมครามเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีสีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะผืน ไม่ซ้ำแบบใคร จึงนับได้ว่าเป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริม และถ่ายทอดให้ตกทอดแก่รุ่นลูกหลาน แต่ปัจจุบันผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำหรือย้อมผ้าม่อฮ่อมส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีอายุราว 40-50 ปีขึ้นไป จึงเป็นที่น่ากังวลว่าหากเยาวชนคนรุ่นหลังไม่สนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทอผ้าหรือย้อมผ้าม่อฮ่อม และไม่เห็นความสำคัญในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากผ้าม่อฮ่อม อีกทั้งหากไม่มีการจัดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นไว้ในระบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชนในชุมชนแล้ว อีกไม่นานผ้าม่อฮ่อมย้อมสีธรรมชาติก็คงจะเหลือแต่เพียงเรื่องเล่าไว้เป็นความทรงจำอันน่าเศร้าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกลืมเลือน ไปจากสังคมไทยในที่สุด
รูปแบบของเสื้อม่อฮ่อม
โดยปกติเสื้อม่อฮ่อมที่เห็นกันอยู่ทั่วไป หากไม่สังเกตก็จะคิดว่าเป็นเสื้อม่อฮ่อมธรรมดา แต่อันที่จริงการทำเสื้อม่อฮ่อมนี้มี 3 รูปแบบ คือ เป็นเสื้อคอกลมมีกระเป๋าบนล่าง รวม 3 ใบ ติดกระดุม เสื้ออีกประเภทหนึ่งเป็นเสื้อลักษณะเดียวกัน แต่ผูกด้วยเชือกหรือผ้าชนิดเดียวกับตัวเสื้อ ส่วนเสื้ออีกประเภทหนึ่งตัวเสื้อและสีสันล้วนทำมาจากผ้าชนิดเดียวกัน แต่รูปแบบของเสื้อเป็นลักษณะเชิ้ตคอปก สำหรับใช้สวมใส่ในโอกาสที่ค่อนข้างเป็นทางการ
การพัฒนาการผลิตและรูปแบบ
1. การพัฒนาการผลิตผ้าม่อฮ่อม ปัจจุบันเมื่อตลาดมีความต้องการเสื้อผ้าม่อฮ่อม และผลิตภัณฑ์จากผ้าม่อฮ่อมสูง ผู้ผลิตจึงปรับปรุงกระบวบการผลิตและคุณภาพ ดังนี้
1.1 สีย้อมผ้า จากที่เคยใช้สีธรรมชาติจากการหมักต้นฮ่อมหรือต้นครามซึ่งมีปัญหาเรื่องสีตกก็เปลี่ยนมาใช้สีย้อมวิทยาศาสตร์
1.2 ผ้าที่ใช้ ก็เปลี่ยนจากผ้าฝ้ายทอขึ้นเองเป็นซื้อผ้าดิบมาตัดเย็บ
1.3 น้ำด่าง ที่เคยได้จากขี้เถ้า ก็เปลี่ยนเป็นใช้ปูนขาวแทน
2. การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิม ๆ จึงต้องดัดแปลงให้เป็นสมัยนิยมมากขึ้น เช่น ตัดเย็บเป็นเสื้อเชิ้ต เสื้อคอพระราชทานซาฟารี เสื้อผ้าสำหรับเด็ก กระโปรง หรือจากกางเกงขาก๊วยก็ดัดแปลงให้เป็นรูปแบบตามสมัยนิยม หรือ เสื้อสตรี จากเสื้อคอกลมมีกระดุมผ่าหน้าก็เพิ่มรูปแบบเป็นทรงเข้ารูป คอจีน หรือทรงอื่น ๆ ตามที่ตลาดต้องการ เป็นต้น ทั้งนี้ การตัดเย็บก็ไม่ได้ติดยึดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้นอยู่กับตลาดหรือยุคสมัย และมีการพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นโดยนำงานศิลปะประดิษฐ์มาผสมผสานเข้าด้วย เช่น การปัก การสกรีนหรือเขียนลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น
กรรมวิธีในการทำเสื้อม่อฮ่อม
การทำเสื้อม่อฮ่อมจัดเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญจากผู้ทำโดยตรง เริ่มจากการนำเอาผ้าฝ้ายสีขาว แต่เดิมจะเก็บดอกฝ้ายเฉพาะดอกที่แก่จัดเท่านั้นซึ่งดอกจะแตกให้เห็นปุยฝ้ายสีขาวก็จะเก็บมาผึ่งแดดให้แห้งสนิทและเก็บสิ่งสกปรกที่เจือปนออก แล้วนำมา อีดและปั่น จากนั้นจึงนำไปทอด้วยกี่ หลังจากนั้นจึงนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าตามแบบ หรือตัดเป็นผืนเป็นชิ้น แล้วจึงนำมาย้อมด้วยสีที่ได้จากการหมักต้นฮ่อม สมัยก่อนจะทอและย้อมไม่มากนักเพราะทำไว้ใช้แค่ในครัวเรือน ต่อมามีการผลิตเพื่อจำหน่ายมากขึ้น แต่การทอผ้าด้วยกี่แบบพื้นเมืองน้อยลง ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น ส่งผลให้การทอผ้าแบบดั้งเดิมผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผ้าฝ้ายทอมือจึงมีราคาแพงขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการทอนาน และคนไม่ค่อยนิยมทอผ้า การทำเสื้อม่อฮ่อมจึงต้องหันไปใช้ผ้าดิบจากโรงงานทอผ้าเพราะประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการผลิต แล้วจึงนำมาย้อมด้วยสีจากน้ำฮ่อมธรรมชาติ หรือสีม่อฮ่อมวิทยาศาสตร์
การทำผ้าม่อฮ่อมแบบดั้งเดิมใช้วัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์ และมีขั้นตอนการผลิต ดังนี้
วัตถุดิบ ประกอบด้วย
1. ต้นฮ่อมสำหรับทำสีย้อมผ้า
2. ผ้าฝ้ายทอมือสีขาว
3. น้ำด่าง
4. แป้งมัน
อุปกรณ์ ประกอบด้วย
1. โอ่งหรือหม้อ
2. ถุงมือยาง
3. ไม้พาย
4. ปี๊บ
5. กะละมัง
6. กระทะขนาดใหญ่
7. ตะกร้าตาห่าง
ขั้นตอนการจัดเตรียมวัตถุดิบ
1. การทำสีย้อมผ้าจากต้นฮ่อม นำลำต้นและใบของฮ่อมมามัดเป็นกำแช่น้ำไว้ในถังหรือโอ่งน้ำขนาดใหญ่ ประมาณ 2-3 วัน จนต้นและใบฮ่อมเน่าได้ที่ น้ำที่ได้จะเป็นสีครามเข้ม นำปูนขาวมาผสม ตีจนเป็นฟองให้เข้ากัน แล้วกรองน้ำออกจะได้สีย้อมเป็นสีครามเข้ม ส่วนตะกอนก็เก็บไว้เป็นหัวครามนำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี
2. การทำน้ำคราม นำปี๊บหรือถังใส่ขี้เถ้า เจาะรูเล็ก ๆ ด้านล่างให้น้ำไหลออกได้ แล้วเทน้ำใส่จนเต็ม นำถังเปล่ารองน้ำด่างที่ได้จากการกรองน้ำขี้เถ้า (น้ำด่างที่นำมาใช้เป็นน้ำใสที่อยู่ตอนบน น้ำที่ได้จะมีฤทธิ์เป็นด่างเวลาจับจะรู้สึกลื่นเหมือนน้ำสบู่) นำน้ำด่างที่ได้มาใช้เป็นตัวละลายสีครามที่ได้จากการหมักต้นห้อม เทน้ำด่างใส่โอ่งหรือหม้อใบใหญ่ แล้วเทน้ำครามตามลงไป จากนั้นใส่ปูนขาวพอ ประมาณคนให้เข้ากัน จะได้น้ำครามที่พร้อมสำหรับการจก (จก คือ การเติมออกซิเจนลงไปในโอ่งหมัก ด้วยการใช้ขันตักน้ำหมักยกเทจากที่สูงลงในโอ่งหมักเพื่อให้เกิดฟองอากาศ) หลังจากได้น้ำหมักครามแล้วก็นำผ้ามาจุ่มลงในโอ่ง กระบวนการย้อมนี้เรียกว่า การย้อมเย็น
3. การทำน้ำครามร้อน เป็นขั้นตอนการทำหลังจากการย้อมเย็น ด้วยการนำกระทะตั้งไฟ ใส่น้ำเมื่อน้ำเดือด เทน้ำครามที่ได้จากการหมักต้นฮ่อมหรือต้นคราม ประมาณ 1/2 ลิตรใส่กระทะ คนให้เข้ากัน จะได้น้ำครามที่พร้อมสำหรับการย้อมเอาผิวผ้า กระบวนการนี้เรียกว่า การย้อมร้อน
4. การต้มแป้งมัน ก่อนทำการรีดนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำคนให้เข้ากัน แล้วนำไปตั้งไฟ เมื่อน้ำต้มแป้งเดือดเทใส่กะละมัง ขั้นตอนนี้เรียกว่า การลงแป้ง
ขั้นตอนการทำเสื้อผ้าม่อฮ่อม
ความยุ่งยากของการทำผ้าม่อฮ่อมแบบดั้งเดิมอยู่ที่การเตรียมสีย้อม แต่หลังจากที่ได้จัดเตรียมสีย้อมจากต้นฮ่อมไว้ในโอ่งเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนการย้อมก็ทำได้อย่างง่าย ๆ ดังนี้
1. นำผ้าฝ้ายสีขาว (ผ้าดิบ) ตัดเย็บเป็นเสื้อหรือกางเกงตามแบบและขนาดที่ต้องการให้เรียบร้อย หรืออาจตัดผ้าเป็นผืนก็ได้ นำไปแช่ในโอ่งหรือถังน้ำสะอาดธรรมดา เพื่อให้แป้งที่ติดมากับเนื้อผ้าหลุดออกหมด จากนั้นนำผ้ามาตากแดดให้แห้ง
2. นำเสื้อหรือผ้าที่ตากจนแห้งหมาด ๆ มาใส่ตะกร้านำตะกร้าจุ่มลงในโอ่งบรรจุสีย้อมที่เตรียม ไว้แล้ว ขยำผ้าโดยต้องสวมถุงมือยางด้วยทุกครั้ง ถ้าไม่ขยำจะทำให้สีของเนื้อผ้าไม่สม่ำเสมอ จากนั้นนำผ้าที่ขยำแล้วมาผึ่งแดดไว้จนหมาด นำผ้าที่ตากไว้ซึ่งแห้งหมาด ๆ มาทำซ้ำอย่างเดิมอีกประมาณ 5 ครั้งจนผ้าเป็นสีครามเข้ม การย้อมซ้ำหลายครั้งมีข้อดี คือ สีครามที่ย้อมจะติดผ้าทั่วทั้งผืนเสมอกัน และสีที่ย้อมจะติดทนนาน
3. เมื่อเสื้อหรือผ้าที่ผ่านกระบวนการย้อมเย็นไปแล้ว 6 ครั้ง แห้งหมาด ๆ ก็นำผ้ามาผ่านกระบวนการย้อมร้อน (การเอาผ้าไปต้ม) โดยใส่ผ้าลงในกระทะจำนวนพอประมาณ แล้วใช้ไม้พายคนให้ผ้าเข้ากับน้ำประมาณ 15-20 นาที จากนั้นจึงนำผ้าไปผึ่งแดดให้แห้งหมาด ๆ
4. นำเสื้อหรือผ้าที่แห้งหมาด ๆ มาจุ่มในกะละมังที่เตรียมไว้สำหรับลงแป้ง บิดพอหมาด ๆ แล้วนำมาตากแดด
5. นำเสื้อหรือผ้าที่แห้งหมาด ๆ มาทำกระบวนการรีด โดยการนำมาจุ่มลงในน้ำแป้ง ที่เตรียมไว้แล้ว ขยำให้ทั่ว บิดให้แห้งหมาด ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง
6. นำเสื้อหรือผ้าที่แห้งแล้วมาพรมน้ำให้ทั่ว นำเตารีดที่เป็นแบบเตาถ่าน (เตาถ่านจะให้ความร้อนสูงกว่าเตาไฟฟ้า) ซึ่งมีถ่านอยู่เต็มทำการรีดผ้า โดยต้องเตรียมเตาอีกตัวหนึ่งไว้รอเพื่อให้การรีดต่อเนื่องและให้ได้ความร้อนคงที่
ปัญหาและอุปสรรค
ผ้าม่อฮ่อมแบบดั้งเดิมเป็นผ้าที่มีเนื้อดี มีความคงทน จึงเป็นที่นิยมของคนทั่วไปใช้สวมใส่กันเป็นอย่างมาก ผู้ผลิตจึงได้คิดค้นพัฒนารูปแบบขึ้นหลากหลายเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งแต่เดิมเคยใช้ผ้าฝ้ายนำมาทอกี่แล้วย้อมด้วยต้นฮ่อมหรือต้นคราม ปัจจุบันนิยมใช้ผ้าดิบย้อมสีวิทยาศาสตร์ซึ่งซื้อหาได้ง่ายกว่า และสะดวกกว่าวิธีเดิม
ถึงแม้ว่าผ้าม่อฮ่อมจะเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ซึ่งก็หมายถึงมีการผลิตและการจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นนั้น แต่ปัญหาในการผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าม่อฮ่อม ก็มีมากเช่นกัน ดังนี้
1. ปัญหาด้านการผลิต
1.1 วัตถุดิบที่ใช้มีราคาสูงขึ้น เช่น ผ้าดิบ สีย้อม และค่าแรงในการตัดเย็บ เป็นต้น แต่ราคาขายยังเท่าเดิม
1.2 ปัญหาการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ การตัดเย็บด้วยฝีมือที่ไม่ได้มาตรฐาน และรูปแบบไม่ทันสมัย
1.3 กระบวนการและขั้นตอนการผลิตที่มีความยุ่งยากซับซ้อน คนทำต้องมีความตั้งใจ และมีความชำนาญพอสมควร คนรุ่นหลังจึงไม่สนใจทำ
2. ปัญหาด้านการตลาด
2.1 ปัจจุบันมีผู้ผลิตเสื้อผ้าม่อฮ่อมหรือร้านค้าที่จำหน่ายเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าม่อฮ่อมจำนวนมาก จึงทำให้ผู้ขายแต่ละรายตัดราคาและแย่งตลาดกัน
2.2 ผู้ผลิตบางรายต้องการจำหน่ายเสื้อผ้าม่อฮ่อมจำนวนมากจึงตั้งราคาให้ต่ำลง จึงมีการแข่งขันด้านราคาสูง
2.3 ขาดการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐด้านการตลาด การจัดจำหน่าย และการส่งออก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแพร่ รวมถึงตลาดที่รองรับในปัจจุบันยังมีอยู่จำนวนน้อย
3. ปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียน
ปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียนของผู้ผลิต เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายย่อย จึงไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในระยะยาว หากจำหน่ายเสื้อผ้าม่อฮ่อมที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้ก็จะมีปัญหา เงินลงทุนจม และมีของค้างสต็อก เนื่องจากเสื้อผ้าม่อฮ่อมจะขายได้ดีเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น
ข้อเสนอแนะ
1. ด้านการผลิต
หน่วยงานราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนให้มีการฝึกสอนคนรุ่นใหม่และพัฒนาผู้ผลิตเดิม ทั้งด้านการย้อมสีม่อฮ่อม การตัดเย็บและรูปแบบผลิตภัณฑ์ โดยการจัดหาวิทยากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ให้การอบรม และชี้แนะเทคนิคในการผลิตเสื้อผ้าม่อฮ่อมให้เกิดแรงจูงใจและความคิดที่จะพัฒนาเทคนิคการผลิต พัฒนารูปแบบ และพัฒนาคุณภาพ ตลอดจนปรับปรุง ขั้นตอนการผลิตให้มีความซับซ้อนน้อยลง มีการตัดเย็บที่ได้มาตรฐานและมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น โดยกำหนดราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิต และส่งผลให้การทำม่อฮ่อมของชาวแพร่ ยังคงอยู่ตลอดไป
2. ด้านการตลาด
2.1 ผู้ผลิตต้องพัฒนารูปแบบให้หลากหลาย โดยนำรูปแบบของเสื้อผ้าแฟชั่นสมัยใหม่ มาดัดแปลงเพื่อเป็นการดึงดูดใจให้ผู้ซื้อมีความสนใจและต้องการมากขึ้น
2.2 หน่วยงานภาครัฐควรเน้นการประชาสัมพันธ์ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าม่อฮ่อม จังหวัดแพร่ เพื่อเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น
2.3 รณรงค์ให้มีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าม่อฮ่อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อันจะเป็น การอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
2.4 หน่วยงานภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนการหาตลาด เพื่อการจัดจำหน่ายให้แพร่หลายมากขึ้น และควรกำหนดราคาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
3. ด้านเงินทุนหมุนเวียน
เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตผ้าม่อฮ่อมและประหยัดค่าขนส่ง ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านโรงงานทอผ้าดิบขึ้น อันจะเป็นการลดปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน การกระจายรายได้ในท้องถิ่น รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อระดมเงินทุนสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตและจำหน่าย ตลอดจนรวมตัวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมที่เป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม เช่น การนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามงานเทศกาลต่าง ๆ ทั้งในเขตจังหวัดแพร่และตามจังหวัดอื่น ๆ ให้ทั่วทุกภาค รวมถึงในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการสร้างรายได้และให้ผ้าม่อฮ่อมเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไป
แนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริม
1. จัดให้มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการทอและย้อมผ้าม่อฮ่อมแก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจทั่วไป โดยการบรรยาย อธิบาย บอกเล่าเรื่องราวและสาธิตขั้นตอนกระบวนการทำงาน ตลอดจนพาไปชมขั้นตอนการทำและย้อมผ้า พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมทดลองปฏิบัติจริง
2. โรงเรียนและสถานศึกษาในชุมชนควรมีบทบาทสำคัญในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น เกี่ยวกับการทำและย้อมผ้าม่อฮ่อม มีการบูรณาการเนื้อหาสาระเข้ากับการเรียนการสอน การเชิญผู้มีภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร ตลอดจนจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการมีส่วนร่วมและอยากเรียนรู้ในภูมิปัญญาทำผ้าม่อฮ่อม
3. จัดให้มีเวทีหรือแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่คนในชุมชนได้ศึกษา และแสดงผลงานที่ผลิตจากผ้าม่อฮ่อมที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตลอดจนจัดให้มีการสาธิตขั้นตอนกระบวนการผลิตผ้าม่อฮ่อมให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
4. ให้ความรู้หรือจัดให้มีการอบรมชาวบ้านในชุมชนเพื่อให้เกิดความภูมิใจในภูมิปัญญา ผ้าม่อฮ่อมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่บรรพบุรุษได้สั่งสมและสืบทอดให้เป็นมรดกต่อกันมา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้เสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากผ้าม่อฮ่อม
5. ควรกำหนดเป็นนโยบายให้โรงเรียน บุคลากรในโรงเรียน และนักเรียน ตลอดจนข้าราชการในจังหวัด รวมทั้งประชาชนผู้สนใจทั่วไปในจังหวัด แต่งกายด้วยผ้าม่อฮ่อมสัปดาห์ละ 1 วัน อันจะเป็นการสร้างความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของท้องถิ่น
6. จัดให้มีที่พักในรูปแบบของโฮมสเตย์ขึ้นในชุมชน แล้วมีการนำชมหรือสาธิตขั้นตอนกระบวนการผลิตผ้าม่อฮ่อมแก่ผู้ที่มาพัก อันจะเป็นการเผยแพร่และสร้างความสนใจ ตลอดจนมีการซื้อหาผ้าม่อฮ่อมเพื่อไว้ใช้สอยหรือนำไปเป็นของฝาก
7. จัดให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อที่หลากหลาย ตลอดจนเผยแพร่ทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนมากและเร็วที่สุด เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักผลงานหรือผลิตภัณฑ์จากผ้าม่อฮ่อมในรูปของชมรม สมาคม กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพสตรี หรือหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น อบต. เป็นต้น
8. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. และ ททท. ควรให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการในการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผ้าม่อฮ่อม รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ผ้าม่อฮ่อมของจังหวัดแพร่เป็นรู้จักในวงกว้างต่อไป
สรุป
กล่าวได้ว่าการผ้าม่อฮ่อม เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าควรแก่การศึกษา อนุรักษ์ ถ่ายทอด และสืบทอดไว้ให้เป็นสมบัติของชาวจังหวัดแพร่และคนไทยทั้งชาติ จากการผลิตผ้าม่อฮ่อมเพื่อไว้ใช้สอยกันเองในครอบครัว สังคม และการแลกเปลี่ยน จนกระทั่งมาสู่การผลิตเพื่อจำหน่าย โดยมีกระแสการอนุรักษ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติเป็นแรงจูงใจ จนสามารถทำเป็นอาชีพที่สร้างรายได้และเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น เกิดการบริหารจัดการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดตั้งเพื่อรวมกลุ่มกันเป็นสมาคม/ชมรม ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผ้าม่อฮ่อม การจัดหาวัตถุดิบ ตลอดจนการลงทุนและการจำหน่าย เป็นต้น ดังนั้น จึงควรอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอด ทั้งเรื่องของขั้นตอนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม รวมถึงการประยุกต์และพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโดยไม่สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าม่อฮ่อม ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริม ถ่ายทอด และสืบทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่านี้ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป อันจะก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชุมชนตนเอง อีกทั้งยังสามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
บันทึกประเพณีน่ารู้ของจังหวัดแพร่ โดย วราพร บำบัด
หม้อห้อมบ้านทุ่งโฮ้ง หลากภูมิปัญญาพื้นบ้านคนเมืองแพร่ โดย วิพุธ วิวรณ์วรรณ
ผ้าไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ผ้าไทย สายใยแห่งภูมิปัญญา... สู่คุณค่าเศรษฐกิจไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
วัฒนธรรมก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
วารสารวัฒนธรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับพิเศษ ประจำเดือนมีนาคม 2551
รูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวิถีชีวิตภูมิปัญญาไทย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น